วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วิสัยทัศน์กับผู้บริหาร

การพัฒนาวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา



ชลาลัย นิมิบุตร[*]



วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นคำที่นักวิชาการได้ให้ความสนใจ และพยายามให้ความหมายแตกต่างกันไปมากมาย จนอาจเกิดความสับสนว่ากำลังกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร หรือวิสัยทัศน์ขององค์กรกันแน่ อย่างไรก็ตามความหมาย ของวิสัยทัศน์สามารถสรุปได้ในแนวทางเดียวกันคือ วิสัยทัศน์ หมายถึง ภาพในอนาคตขององค์กรซึ่งได้มาจากปัญญา ความคิดโดยภาพนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง มีความเป็นไปได้ ดึงดูดใจให้ปฏิบัติตาม สอดคล้องกับเป้าหมายและภาระหน้าที่ขององค์กรอันจะทำให้องค์กรมีสภาพดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากความหมาย ของวิสัยทัศน์จะเห็นว่า วิสัยทัศน์มีลักษณะเป็นภาพ สถานศึกษาไม่สามารถที่จะสร้างภาพด้วยตนเองได้ แต่จะมองเห็นอนาคตขององค์กรผ่านผู้บริหารสถานศึกษาว่าจะกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษาอย่างไรจึงจะเหมาะสม ดังนั้นวิสัยทัศน์ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จะหมายถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารสถานศึกษาทุกคนจะต้องมีเพื่อนำการเปลี่ยนแปลง มาสู่สถานศึกษาให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เป็นพลวัตรเช่นในปัจจุบัน และผู้เขียนจะขอนำเสนอแนวทางในการพัฒนาวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษาตามกรอบแนวคิด ดังนี้



การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์


แนวคิด ความหมาย และความสำคัญของวิสัยทัศน์



วิสัยทัศน์ หมายถึง ภาพในอนาคตขององค์กรที่ผู้บริหารและสมาชิก ขององค์กรร่วมกันวาดฝัน หรือจินตนาการขึ้นโดยมีพื้นฐานอยู่บนความจริง ในปัจจุบัน เชื่อมโยงวัตถุประสงค์ ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อมั่นเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งพรรณนาให้เห็นทิศทางของสถานศึกษาอย่างชัดเจน มีพลังท้าทาย ทะเยอทะยาน และมีความเป็นไปได้ (รุ่ง, 2539: 129) วิสัยทัศน์จึงเป็นเสมือนพิมพ์เขียวของสภาพที่ต้องการเพื่อให้ทุกคนทำงานไปสู่ความสำเร็จในอนาคต วิสัยทัศน์ได้มาจากการวิเคราะห์ปัญหาขององค์กรบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ในปัจจุบัน ร่วมกับการระดมความคิดหาแนวทางแก้ปัญหานั้นเพื่อให้ได้มา ซึ่งองค์กรอันพึงประสงค์ในอนาคต (บัณฑิต, 2540: 27) วิสัยทัศน์เป็นเรื่องของทุก ๆ คน แต่วิสัยทัศน์ไม่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้ หากไม่ได้รับการปลูกฝัง ไม่ได้รับการเรียนรู้จากสังคม (เกรียงศักดิ์, 2541: 65)



วิสัยทัศน์เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของผู้บริหารในการดำเนินกิจกรรมขององค์กร หากผู้บริหารปราศจากวิสัยทัศน์ก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและดำรงรักษาความเป็นองค์กรที่ดีไว้ได้ (Sergiovanni, 1987: 73) วิสัยทัศน์ทำให้ผู้บริหารมองเห็นว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่แท้จริงขององค์กร และสามารถกำหนดภาพในอนาคตขององค์กรได้ว่าต้องการให้เป็นอย่างไร เพื่อกำหนดกิจกรรม และแนวทางปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามต้องการโดยไม่เสียเวลากระทำการในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และยังเป็นแรงกระตุ้นให้สมาชิกขององค์กรปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจอย่างเป็นพิเศษยิ่งกว่าธรรมดา (Duke, 1987: 51) วิสัยทัศน์จะช่วยสร้างความผูกพันและร้อยรัดพลังของสมาชิกเพื่อการบรรลุเป้าหมาย ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์จะสามารถสร้างวิสัยทัศน์ให้กับองค์กร และเปลี่ยนวิสัยทัศน์ให้เป็นสภาพที่เป็นจริง มองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดคืออะไร จะต้องทำอะไร และทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น วิสัยทัศน์ที่แจ่มแจ้งชัดเจนนั้นมาจากการเข้าใจองค์กรอย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง งานวิจัยและวรรณกรรมต่าง ๆ ได้ยืนยันว่า วิสัยทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผู้บริหาร (เสริมศักดิ์, 2538: 6)



วิสัยทัศน์เป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมี และจะต้องเผยแพร่วิสัยทัศน์นั้นไปสู่คณะครู เพื่อให้สมาชิกกระทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมุ่งหวังให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น (Davis and Thomas, 1989: 22-23) การมีวิสัยทัศน์อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องกระทำให้ได้คือ การทำให้สมาชิกมีจิตผูกพันกับวิสัยทัศน์ สามารถหล่อหลอมวิสัยทัศน์นั้นลงสู่นโยบาย แผนงาน และกิจวัตรประจำวันภายในองค์กร ยินดีเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น (Caldwell and Spinks, 1990: 174)

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารสถานศึกษานอกจากจะมีวิสัยทัศน์แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการเผยแพร่วิสัยทัศน์ให้สมาชิกเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ให้บรรลุผลด้วย



มิติของวิสัยทัศน์



Braun (1991: 26) ได้กำหนดมิติของวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษาเป็น 3 มิติ คือ การสร้างวิสัยทัศน์ (Formulated Vision) การเผยแพร่วิสัยทัศน์ (Articulated Vision) และการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ (Operational Vision)



การสร้างวิสัยทัศน์ หมายถึง การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถสร้างภาพในอนาคตของสถานศึกษาได้อย่างชัดเจนว่าประสิทธิผลที่ดีที่สุดของสถานศึกษาที่ต้องการอย่างแท้จริงคืออะไร ทั้งนี้โดยอาศัยทักษะการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการสังเคราะห์ข้อมูลของผู้บริหารสถานศึกษา

Locke et al. (1991: 53-54) ได้เสนอแนวคิดว่า การสร้างวิสัยทัศน์ของผู้บริหารได้มาจากวิธีการดังต่อไปนี้



1. โดยการเก็บรวบรวมข้อมูล หมายถึง การสนทนาพูดคุย และ ฟังความคิดเห็นจากบุคคลต่าง ๆ ทั้งในองค์กรและนอกองค์กร



2. โดยกระบวนการจัดกระทำข้อมูล หมายถึง การวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อนำไปกำหนดวิสัยทัศน์ของผู้บริหารซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถของผู้บริหารในเรื่อง การมีสายตายาวไกล ความเข้าใจ วัฒนธรรมขององค์กร ความเข้าใจถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและแนวโน้มของโลกในอนาคต ความสามารถในการมองเห็นภาพรวมขององค์กร ความสามารถในการคาดคะเนแรงต่อต้านที่อาจจะเกิดขึ้น ความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดเห็นของตนเองได้ตลอดเวลา



3. โดยการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของตนออกมาเป็นถ้อยคำได้อย่างชัดเจน มีพลังในการกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนทำงานเพื่อเป้าหมายขององค์กร ทั้งนี้ถ้อยคำ ที่แสดงวิสัยทัศน์นั้นควรมีลักษณะย่นย่อ ชัดเจน ท้าทาย มุ่งอนาคต มั่นคง ปรารถนาที่จะบรรลุให้ได้



4. โดยการประเมินผลเป็นระยะ หมายถึง การทดสอบว่าวิสัยทัศน์นั้นสอดคล้องกับความรู้ความสามารถของสมาชิกในองค์กรหรือไม่ หากได้คำตอบปฏิเสธ ผู้บริหารก็จะต้องนำวิสัยทัศน์นั้นมาพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนต่อไป



เสริมศักดิ์ (2538: 4) ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า การสร้างวิสัยทัศน์ เป็นการสร้างความฝันที่เป็นจริง หรือเป็นการสร้างพิมพ์เขียวขององค์กรที่มีความเป็นเลิศในอนาคต การสร้างวิสัยทัศน์จะต้องศึกษาองค์กรอย่างลึกซึ้ง มีข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับจุดเด่น จุดด้อยของบุคคล สถานที่ ทรัพยากร และเวลา วิสัยทัศน์ ที่สร้างขึ้นจำเป็นต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม วิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการสร้างวิสัยทัศน์ก็คือ การสร้างวิสัยทัศน์โดยการให้มีส่วนร่วม (Shared Vision) ในขณะที่สมศักดิ์ (2540: 13) มีความคิดเห็นว่า การสร้างวิสัยทัศน์ควรกำหนดขึ้นโดยผู้บริหาร (Leader Initiate) มิได้กำหนดโดยกลุ่มบุคคล ซึ่งผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้จักสนทนาและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกแล้วนำมาพิจารณาว่าโลกปัจจุบันเป็นเช่นไร นำข้อมูลผนึกเข้าเป็นวิสัยทัศน์ แล้วหาวิธีการที่จะมุ่งสู่วิสัยทัศน์นั้น ในการสร้างวิสัยทัศน์จำเป็นต้องคำนึงถึงศีลธรรม จริยธรรม เพื่อให้ทิศทางที่จะมุ่งไปมีความถูกต้อง ตัวแปรที่สำคัญในการสร้างวิสัยทัศน์คือ ทักษะด้านความคิดรวบยอด (Conceptual Skills) อันเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งของผู้บริหารโรงเรียน โดยเฉพาะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์(Creative Thinking) ที่พัฒนาให้ผู้บริหารมองกว้าง คิดไกล ทันสมัย และเฉียบแหลม



การเผยแพร่วิสัยทัศน์ หมายถึง การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถสื่อสารให้สมาชิกมีความเข้าใจในวิสัยทัศน์ของตนได้อย่างชัดเจน ยอมรับ และเต็มใจที่จะปฏิบัติงานทั้งหลายเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น



Ellis and Joslin (1990: 8) มีความเห็นว่า การสร้างวิสัยทัศน์ขึ้นมาได้นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับความสามารถในการเผยแพร่วิสัยทัศน์ไปยังสมาชิกทุกคนขององค์กรให้มีความคิดเห็นคล้อยตาม และเต็มใจที่จะปฏิบัติกิจกรรมทั้งหลายเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้นซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือ การให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปยังวิสัยทัศน์ของสถานศึกษาที่กำหนดไว้ นั่นคือ เปลี่ยนสภาพของวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลเป็นวิสัยทัศน์ของส่วนรวม จุดมุ่งหมายของการเผยแพร่วิสัยทัศน์คือ การทำให้สมาชิกขององค์กรยอมรับวิสัยทัศน์นั้น เป็นของตน ผู้บริหารจึงต้องมีศิลปะในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมของสมาชิก มีวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิผลในการอธิบายและโน้มน้าวให้สมาชิกขององค์กรเข้าใจและยอมรับวิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง



การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ หมายถึง การที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติจริงได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้โดยวิธีการหลอมวิสัยทัศน์ของตนลงไปสู่นโยบาย เป้าหมาย แผนงาน โครงการ กิจวัตรประจำวันของสถานศึกษา และโดยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคณะครู



Sashkin (1988: 247) ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ได้ 2 แนวทาง คือ



1. โดยการหลอมวิสัยทัศน์นั้นลงในปรัชญาของสถานศึกษา และกำหนดนโยบาย โครงการ เพื่อนำปรัชญาของสถานศึกษาไปปฏิบัติจริง



2. โดยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกแต่ละคน ซึ่งผู้บริหาร

สถานศึกษาควรมีคุณลักษณะ 5 ประการ คือ มีทักษะการสื่อสารที่ดี แสดงออกถึงวิสัยทัศน์ของตนอย่างเด่นชัด วางตนให้เป็นที่ไว้วางใจได้ มีความมั่นใจในตนเอง และเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น



การนำวิสัยทัศน์ไปปฏิบัติจะบรรลุผลเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถทางการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะการมีทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ การเป็นผู้สื่อสารที่ดี และความสามารถในการทำงานร่วมกับบุคคลที่มีลักษณะต่าง ๆ ได้ทุกสถานการณ์ (Scheive and Schoenheit, 1987: 102)

สรุปได้ว่า วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษาเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเป้าหมายชัดเจน การตั้งเป้าหมายว่าองค์กรจะไปทางใดนั้นเป็นภารกิจเพียงครึ่งเดียวของผู้บริหารสถานศึกษา ภารกิจอีกครึ่งหนึ่งก็คือ ผู้บริหารจะต้องเผยแพร่หรือสื่อสารให้สมาชิกทราบในวิสัยทัศน์ของตน มีความเห็นพ้องกันในวิสัยทัศน์นั้น และร่วมพลังในการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์



เครื่องมือวัดวิสัยทัศน์



เครื่องมือวัดวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษาที่สามารถตรวจสอบวิสัยทัศน์ได้ครอบคลุมสาระสำคัญมากกว่าเครื่องมือชนิดอื่น คือ Leadership Vision Questionnaire-Principal (LVQ-P) ซึ่งสร้างขึ้นโดย Braun (1991) และศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ได้แปลและปรับให้สอดคล้องกับบริบทของไทย ลักษณะเครื่องมือประกอบด้วยข้อคำถาม 32 ข้อ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 4 ช่วงคะแนน เพื่อตรวจสอบวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา 3 มิติ คือ การสร้างวิสัยทัศน์ การเผยแพร่วิสัยทัศน์ และการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ โดยมีวิธีการคิดคะแนน 2 ระดับคือ ระดับที่ 1 คิดคะแนนรวมแยกเป็นแต่ละมิติ และระดับที่ 2 คิดคะแนนเฉลี่ยของคะแนนรวมทั้ง 3 มิติ จะได้คะแนนที่เป็นค่าแสดงถึงระดับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละคน ซึ่งได้กำหนดการแปลค่าคะแนนเฉลี่ยของแบบวัดวิสัยทัศน์ไว้ดังนี้



1.00 – 1.80 แสดงว่า มีวิสัยทัศน์อยู่ในระดับต่ำ

1.81 – 3.20 แสดงว่า มีวิสัยทัศน์อยู่ในระดับปานกลาง

3.21 – 4.00 แสดงว่า มีวิสัยทัศน์อยู่ในระดับสูง



การวัดวิสัยทัศน์จะช่วยให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถประเมินตนเองได้ว่ามีวิสัยทัศน์อยู่ในระดับใด วิสัยทัศน์ในมิติใดที่สมควรได้รับการพัฒนาเพื่อให้เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ดี ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาสามารถพัฒนาวิสัยทัศน์ได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้



แนวทางในการพัฒนาวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา



วิสัยทัศน์มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมความรอบรู้และประสบการณ์ที่มากพอ วิสัยทัศน์สามารถสร้างได้ พัฒนาได้



การสร้างวิสัยทัศน์



ในการสร้างวิสัยทัศน์มีประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนี้



1. ผู้บริหารจะต้องเข้าใจองค์กร ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเข้าใจองค์กรอย่างลึกซึ้ง เข้าใจภารกิจ เป้าหมาย และวัตถุประสงค์เดิมขององค์กร เข้าใจวัฒนธรรมขององค์กร เข้าใจความต้องการและค่านิยมของสมาชิก ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องวิเคราะห์องค์กรเพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อนขององค์กร



2. ผู้บริหารจะต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม เนื่องจากสถานศึกษาเป็นระบบสังคมซึ่งได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นจะต้องศึกษาสภาพปัจจุบันของสิ่งแวดล้อม และศึกษาแนวโน้มของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมเพื่อแสวงหาโอกาส และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรืออุปสรรค



ทั้งนี้การที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะเข้าใจองค์กรและสภาพแวดล้อมนั้นจำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่ทันสมัยและเชื่อถือได้ การแสวงหาข้อมูลจึงต้องหาข้อมูลทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ



ในการสร้างวิสัยทัศน์นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาควรพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในด้านต่อไปนี้ (เสริมศักดิ์, 2538:27)

1. การมองการณ์ไกล

2. การมองย้อนกลับไปข้างหลัง

3. การมองผลกระทบและแนวโน้มต่าง ๆ

4. การมององค์กรในภาพรวม

5. การคาดคะเนแรงต่อต้านต่าง ๆ

6. การวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร

7. การมีความมุ่งมั่นหรือความสนใจที่จะเปลี่ยนแปลง

8. การทดสอบว่าวิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายของ

องค์กร และความสามารถของสมาชิกในองค์กรหรือไม่



การเผยแพร่วิสัยทัศน์



เมื่อผู้บริหารสถานศึกษาสามารถสร้างวิสัยทัศน์ขึ้นมาได้แล้วจำเป็นต้องเผยแพร่วิสัยทัศน์นั้นให้สมาชิกได้รับรู้ เข้าใจ และยอมรับ เพื่อเปลี่ยนสภาพวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลให้เป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร เพราะสมาชิกจะไม่ทำงานเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารสร้างขึ้นหากสมาชิกไม่ยอมรับในวิสัยทัศน์นั้น ดังนั้น จึงควรให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น วิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นจะกลายเป็นภารกิจที่จะต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น การเผยแพร่วิสัยทัศน์จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ ภารกิจ และการปฏิบัติ



ในการเผยแพร่วิสัยทัศน์นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาควรพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้



1. ทักษะในการติดต่อสื่อสาร ผู้บริหารควรพัฒนาทักษะในการพูด การฟัง การเขียน และการแสดงภาษาท่าทาง เพื่อให้สมาชิกเข้าใจวิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้น



2. ทักษะในการทำตนเป็นแบบอย่าง (Role Model) เนื่องจากวิสัยทัศน์ ที่สร้างขึ้นจะกลายเป็นภารกิจขององค์กร ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรแสดงให้เห็นว่า วิสัยทัศน์นั้นมีความเป็นไปได้ สามารถปฏิบัติให้บรรลุผลได้โดยการปฏิบัติให้ดูเป็นแบบอย่าง ซึ่งการทำตนเป็นแบบอย่างนี้ผู้บริหารจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำ เสมอ



การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์



การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ เป็นการนำวิสัยทัศน์ที่สร้างไปสู่การปฏิบัติจริงโดยความร่วมมือ ทุ่มเทกำลังกาย ความคิด และความพยายามของสมาชิก เพื่อให้วิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นนั้นเป็นผลสำเร็จ นั่นคือเป็นการรวมพลังเพื่อบรรลุสภาพการณ์ในอนาคตที่พึงปรารถนา ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องบูรณาการวิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นให้เข้ากับปรัชญา นโยบาย แผนงาน และโครงการของสถานศึกษา และปฏิบัติตามจนกระทั่งบังเกิดผล



ในการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์นั้น ผู้บริหารสถานศึกษาควรพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในด้านต่าง ๆ ดังนี้



1. ทักษะในการบริหารการเปลี่ยนแปลง การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ จำเป็นจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนวิธีดำเนินการเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่แตกต่างหรือสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะก่อให้เกิดแรงต่อต้าน ความวิตกกังวล ความเครียด และความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงควรพัฒนาทักษะในการบริหารการเปลี่ยนแปลง

2. ทักษะในการทำงานกับคน การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์เป็นการรวบรวมพลังทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ ผู้บริหารจึงควรพัฒนา การสื่อสารแบบ 2 ทางระหว่างผู้บริหารกับสมาชิกใน 3 ประเด็น คือ ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และการยอมรับความคิดเห็น



3. ทักษะการสร้างแรงจูงใจ การทำงานของสมาชิกในองค์กรเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสามารถและแรงจูงใจ ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรมีทักษะในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดแก่สมาชิก



4. ทักษะในการมอบหมายงาน ผู้บริหารสถานศึกษาควรมีทักษะในการมอบหมายงาน ทั้งนี้เพราะการมอบหมายงานจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีอิสระในการทำงาน เกิดความผูกพัน เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีความรับผิดชอบมากขึ้น



5. ทักษะในการปรับโครงสร้างองค์กร ผู้บริหารสถานศึกษาควรปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ



การประเมินผลเพื่อการปรับปรุงและแก้ไข



วิสัยทัศน์ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถกำหนดภาพในอนาคต ที่ต้องการได้ ขณะเดียวกันผู้บริหารก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง เพื่อนำสถานศึกษาไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก และมักจะล้มเหลว เนื่องจากธรรมชาติของบุคคลก็ดี ขององค์กรก็ดีย่อมมีการต่อต้านเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรมีการประเมินผลเป็นระยะเพื่อทดสอบว่าวิสัยทัศน์นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร สอดคล้องกับความสามารถของสมาชิกในองค์กรหรือไม่ หากได้คำตอบปฏิเสธ ผู้บริหารสถานศึกษาก็จะต้องนำวิสัยทัศน์นั้นมาพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนต่อไป ผู้บริหารที่ดีควรมองการสร้างวิสัยทัศน์ การเผยแพร่วิสัยทัศน์ การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ และการประเมินผล เพื่อการปรับปรุงและแก้ไขให้มีความเชื่อมโยงกัน



บทสรุป



วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถานศึกษา เป็นคุณสมบัติของผู้บริหารที่สามารถมองเห็นภาพในอนาคตของสถานศึกษาที่ต้องการจะให้เป็นไปได้อย่างชัดเจนโดยภาพนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของสถานศึกษา มีความเป็นไปได้ และสามารถมองเห็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำสถานศึกษาให้บรรลุความต้องการนั้น วิสัยทัศน์เป็นภาพอันชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นเป้าหมาย ค่านิยม ปรัชญา และความเชื่อที่สมาชิกของสถานศึกษาร่วมกันยึดถือ วิสัยทัศน์ที่แท้จริงต้องเป็นวิสัยทัศน์ร่วมที่สมาชิกช่วยกันผลักดันสานฝัน อันเป็นผลจากความสามารถคิดอ่านผสานเข้ากับประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของสมาชิก และเป็นผลจากความสามารถในการเก่งคิด เก่งคน และเก่งงานของผู้บริหารสถานศึกษา วิสัยทัศน์จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน



วิสัยทัศน์เป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมี เพราะวิสัยทัศน์เป็น Roadmap ให้ทุกคนในสถานศึกษาได้ใช้เป็นประทีปนำทางในการปฏิบัติงาน ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่แท้จริงนั้นจะต้องมีกระบวนการลีลาของวิสัยทัศน์ครบทั้ง 3 มิติคือ คิดได้ (การสร้างวิสัยทัศน์) สื่อเป็น (การเผยแพร่วิสัยทัศน์) และโน้มนำให้มีการปฏิบัติล่วงหน้า (การปฏิบัติตามวิสัยทัศน์) พร้อมทั้งมีการประเมินผลเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบด้วย



เอกสารและสิ่งอ้างอิง



เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2541. มองฝันวันข้างหน้า: วิสัยทัศน์ประเทศไทย

ปี 2560. กรุงเทพฯ: ซัคเซส มีเดีย.



บัณฑิต แท่นพิทักษ์. 2540. ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำ อำนาจ ความศรัทธา

และความพึงพอใจ ในงานของครูโรงเรียนมัธยมศึกษา. วิทยานิพนธ์

ปริญญาเอก, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ประสานมิตร.



รุ่ง แก้วแดง. 2539. รีเอ็นจิเนียริ่งระบบราชการไทย ภาค 2. กรุงเทพฯ:

สำนักพิมพ์มติชน.



สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์. 2540. วิสัยทัศน์ (VISION): พลังแห่งความสำเร็จ.

การศึกษาเอกชน 7(70): 13-14.



เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์. 2538. วิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษา. ในประมวล

สาระชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพมหาบัณฑิตบริหารการศึกษา. เล่มที่ 1.

หน่วยที่ 1. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.



Braun, J. B. 1991. An analysis of principal leadership vision and its

relationship to school climate. Dissertation Abstracts International

52 (04): 1139-A.



Caldwell, B. J. and J. M. Spinks. 1990. The Self- Managing School. London:

The Falmer Press.

Davis, G. A. and M. A. Thomas. 1989. Effective Schools and Effective

Teachers. Boston: Allyn and Bacon.



Duke, D. L. 1987. School Leadership and Instructional Improvement.

New York: Random House.



Ellis, N. E. and A. W. Joslin. 1990. Shared Governance and Responsibility:

The Keys to Leadership, Commitment and Vision in School Reform.

U.S. Department of Educational Design and Management School of

Education.



Locke, E. A., et al. 1991. The Essence of Leadership: The Four Keys to

Leading Successfully. New York: Lexington Books.



Sashkin, M. 1988. The visionary principal: School leadership for the next

century. Education and Urban Society 20 (3): 239-249.



Sergiovanni, T. J. 1987. Educational Governance and Administration.

2 nd ed. Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice Hall, Inc.



Sheive, L. T. and M. B. Schoenheit. 1987. Vision and the work life of

educational leaders. Leadership: Examining the Elusive.

Yearbook of the Association for Supervision and Curriculum

Development.



[*] นิสิตปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

2 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้มากเลยค่ะ ขอบคุณมากๆๆนะค่ะ

    ตอบลบ
  2. ได้ความรู้มากเลยค่ะ ขอบคุณมากๆๆนะค่ะ

    ตอบลบ